ความเสี่ยงของสำนักงานบัญชีที่สรรพากรจับตา EP.2

การมีสำนักงานบัญชีไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องแข่งกันหาลูกค้าแล้ว ยังต้องสู้รบปรบมือกับสรรพากรอีก

ในยุคประเทศไทย 4.0 นี้ สรรพากรได้ติดอาวุธทางเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างครบมือ พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีให้เป็นพันธมิตรกับสรรพากร โดยบอกเป็นนัยๆ ว่าเรารู้นะว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

----

ใน Ep.1 เราได้รู้กันไปแล้วว่าความเสี่ยงของสำนักงานบัญชีที่สรรพากรจับตานั้น มีอะไรกันบ้าง ในแง่ของตัวสำนักงานเอง

สำหรับ Ep.2 นี้ เรามาดูกันว่า ความเสี่ยงของสำนักงานบัญชีที่สรรพากรจับตา ในแง่ของการปฏิบัติงานให้ผู้ประกอบการ หรือการช่วยผู้ประกอบการเลี่ยงภาษีนั้นมีอะไรกันบ้าง

----

หลักๆ แล้ว สรรพากรจับตามองการทำงานของสำนักงานบัญชีทั้งหมด 4 หัวข้อ คือ

ข้อ 1 การแสดงรายได้ให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง (ไม่แสดงต่ำเกินไป) เช่น

  • ให้ผู้ประกอบการบันทึกรายได้ไม่ครบ เช่น บันทึกแค่ 70% จากทั้งหมด 100% ก็พอ เพื่อจะได้เสียภาษีน้อยลง
  • ให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าแบบผ่อนชำระ ออกเอกสารเป็นการขายแบบเงินสดแทน เช่น ขายรถจักรยานยนต์เป็นต้น เพราะ Tax point ของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นแตกต่างกัน และเลือกเวลาบันทึกรายการเพื่อจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ง่ายกว่าการขายแบบผ่อนชำระ
  • ให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต้องเสีย vat แสดงรายการเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้น vat เช่น การขายบ้านพร้อมฟอร์นิเจอร์ จริงๆ แล้วที่ได้รับยกเว้น vat คือการขายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นไม่รวมถึงเฟอร์นิเจอร์
  • ให้ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยให้แสดงจำนวนเงินน้อยกว่าความจริง

----

ข้อ 2 การแสดงรายจ่ายให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง (ไม่แสดงสูงเกินไป) เช่น

  • ให้บุคคลที่ไม่มีรายได้มาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ยืมหรือผู้ถือหุ้น เพื่อรับดอกเบี้ยหรือเงินปันผล และยื่นแบบ ภงด.90 จากนั้นขอคืนทีหลัง
  • ให้ผู้ประกอบการหาบุคคลธรรมดาที่ไม่เกี่ยวข้องมารับเงิน เช่น ค่าแรง ค่าที่ปรึกษา เพื่อแสดงรายจ่ายที่ไม่มีการจ่ายจริง
  • สร้างค่าใช้จ่ายโดยบันทึกรายการค้างจ่าย ทำให้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
  • ทำทะเบียนทรัพย์สินที่ไม่มีจริง เพื่อคำนวณค่าเสื่อมราคา

----

ข้อ 3 การจัดทำงบการเงินให้ถูกต้อง เช่น

  • ในงบมีแค่บัญชีเงินสด แทนการบันทึกบัญชีเงินฝากธนาคาร
  • ปรับปรุงรายการระหว่างต้นทุนขายกับรายการสินค้าคงเหลือปลายงวด ให้ได้กำไรขั้นต้นตามต้องการ ทำให้สินค้าคงเหลือปลายงวดไม่ตรงตามความจริง

----

ข้อ 4 เรื่องอื่นๆ เช่น

  • นำใบกำกับภาษีที่ไม่เกี่ยวข้องหรือปลอมหรือไม่มีอยู่จริง มาเป็นหลักฐานขอเครดิตภาษีซื้อ
  • จงใจยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงอัตราส่วนยอดซื้อต่อยอดขายให้ไม่เกินกิจการประเภทเดียวกันในท้องที่เดียวกัน
  • แนะนำให้ลูกค้าจดทะเบียนนิติบุคคล SMEs เพื่อกระจายรายได้และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

----

อ่านมาจนถึงตอนนี้ เหงื่อคงตกไปหลายลิตรแล้วล่ะ เพราะว่าโลกนี้ช่างอยู่ยากขึ้นมาทุกวันแล้วใช่มั้ยคะ

ทางที่ดี หากรู้อย่างงี้แล้วว่าสรรพากรแพ่งเล็งเรื่องใด เราก็คิดใหม่ทำใหม่ให้มันถูกต้องจะเป็นดีที่สุดจ้า

----

ขอบคุณที่มา:

เอกสารประกอบการบรรยาย “โครงการสำนักงานบัญชี ก้าวไปพร้อมกับสรรพากร” ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 เผยแพร่โดยกองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี

source: www.cpdacademy.co