5 คุณสมบัติที่นักบัญชีมืออาชีพควรมี

นักบัญชี อาชีพฮอตฮิตที่ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องรู้จัก อาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝันเพราะว่ามีโอกาสเสี่ยงน้อยที่จะตกงาน

หลายๆ คนเข้าใจว่านักบัญชีแค่เรียนจบด้านบัญชีมาก็สามารถเป็นได้ แต่ทว่าการเป็นนักบัญชีกับการเป็นนักบัญชีมืออาชีพนั้นแตกต่างกัน หากใครสามารถก้าวข้ามไปเป็นนักบัญชีมืออาชีพได้ พวกเค้าเหล่านั้นก็น่าจะอยู่ใกล้ความสำเร็จในสายงานวิชาชีพนี้อย่างแน่นอน

แล้วคุณสมบัติที่นักบัญชีมืออาชีพควรมี คืออะไรบ้างล่ะ? อย่ารอช้า เราไปดูกันเลยดีกว่า

1. การบริหารจัดการที่ดี (Organization)

หน้าที่ความรับผิดชอบในการทำบัญชีเป็นหน้าที่ที่สำคัญ วันๆ หนึ่งนักบัญชีต้องพูดคุย ประสพพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา และยังต้องจัดการกับกองเอกสารอันมโหฬาร ดังนั้น การบริหารจัดการที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ

การบริหารจัดการที่ดีสำหรับนักบัญชีมืออาชีพคืออะไร? การบริหารจัดการที่ดี คือ การที่เราสามารถจัดระบบการทำงานและความรับผิดชอบได้อย่างลงตัว เช่น บริหารเวลาให้กับลูกค้าแต่ละรายได้เหมาะสม ยื่นงบยื่นภาษีได้ก่อนหรือภายในเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่กระทั่งการจัดระบบเอกสารทางบัญชีได้อย่างเป็นระเบียบ หาง่าย หายไม่มี

เทคนิคดี ๆ สำหรับนักบัญชีมืออาชีพในการบริหารจัดการนั้นมีมากมาย เช่น การสร้าง Calendar หรือปฏิทินงานจดเวลานัดหมายและ Deadline ต่าง ๆ หรือการทำ To-Do-List สำหรับงานแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ แต่ละเดือน ปัจจุบันมีโปรแกรมและ Application มากมายให้เราได้เลือกใช้ ถ้าเป็นคนขี้ลืมก็ให้โปรแกรมเหล่านี้ช่วยจำแล้วตั้งค่าให้เตือนเราล่วงหน้าซะ แค่นี้ชีวิตนักบัญชีก็ง่ายขึ้นเยอะ

2. การบริหารเวลา (Time Management)

การบริหารเวลาเป็นความสามารถที่คลาสสิคและน่าหลงใหลที่สุดสำหรับสายงานบัญชี ไม่มีนักบัญชีคนไหนอยากยื่นงบหรือยื่นภาษีช้า เพราะนอกจากจะโดนลูกค้าว่าแล้วยังจะต้องเสียทรัพย์เพราะถูกปรับจริงไหม

สำหรับอาชีพนักบัญชี การบริหารเวลาที่ดีจะต้องเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญ หรือว่า Priority ของงาน และต้องให้ budget เวลาสำหรับการทำงานแต่ละงานไว้ว่างานนี้ควรเริ่มทำเมื่อไหร่และต้องเสร็จภายในเมื่อไหร่

Tips ดีๆ ที่ฝากไว้ให้ใช้กัน คือ อย่ากำหนด deadline เป็นวันสุดท้ายของการยื่นแบบ เผื่อเวลาไว้บ้างสำหรับความผิดพลาดหน้างานก็ดีนะ เช่น ถ้าวันสุดท้ายของการยื่นแบบคือวันที่ 30 อย่ากำหนด deadline ตัวเองเป็นวันที่ 30 ให้กำหนดไว้ซักวันที่ 23 เผื่อว่ายื่นแบบจริงระบบล่ม หรือเสียเวลากับการกรอกข้อมูลแบบงงๆ จะได้พอมีเวลาเหลือ ไม่ไฟรนก้นกันนะจ๊ะ

3. ความซื่อสัตย์ (Honesty and Integrity)

ถ้าความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ความซื่อสัตย์นี้ก็คือหัวใจของนักทำบัญชีทั่วโลกเลยล่ะ คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวว่าทำไมนักบัญชีต้องมีความซื่อสัตย์ แค่คิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นลูกค้า เราจะเลือกจ้างนักบัญชีคนไหน ระหว่างคนที่มีประวัติฉ้อโกงกับนักบัญชีใสๆ ไร้คดีติดตัว

เมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องเทาๆ ให้เราต้องตัดสินใจ ขอให้คิดอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราจะตัดสินใจนั้นถูกต้องตามกฎหมายมั้ย และให้ประโยชน์แก่ใคร บางทีถูกใจแต่ไม่ถูกกฎหมาย สุดท้ายแล้วมีปัญหาภายหลัง ถึงตอนนั้นก็คงต้องตัวใครตัวมันแล้วล่ะ

4. ความสามารถในการสื่อสาร (Communication)

การเป็นนักบัญชีที่ดี ไม่ใช่แค่ลงบัญชีเก่งอย่างเดียว เราจะต้องสื่อสารให้ได้และสื่อสารให้เป็นด้วย

อย่าลืมว่าเราอยู่ได้เพราะลูกค้า และลูกค้าส่วนใหญ่เค้าไม่ค่อยเข้าใจบัญชีและกฎหมายภาษี เค้าจึงต้องพึ่งเรา ฉะนั้น ผู้ทำบัญชีมืออาชีพจงอย่าเพิ่งนอย อย่าเพิ่งเหวี่ยง ถ้าลูกค้าจะงงไปงงมา เราต้องพยายามสื่อสารและอธิบายให้เค้าเข้าใจ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อธิบาย สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ แค่นี้ความสำเร็จของนักบัญชีก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ถ้าจะให้ advance ไปกว่านั้น ผู้ทำบัญชีควรจะสามารถสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนได้ดี นำเสนองานและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในที่ประชุมได้ แค่นี้ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองในอีกระดับหนึ่ง

5. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

วิชาชีพบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มาตรฐานการบัญชีมีการอัปเดตเรื่อย ๆ ชนิดที่เรียกได้ว่ายังงงๆ กับมาตรฐานอันเดิมอยู่เลย มาตรฐานฉบับใหม่ก็จะบังคับใช้อีกแล้ว

ทีนี้เราจะทำอย่างไรล่ะให้เป็นคนไม่ตกเทรน?

ง่ายๆ เลยก็คือ เราต้องปรับตัวให้ทันทั้งกับโลกธุรกิจที่หมุนเร็วและมาตรฐานการบัญชีที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลา โดยอาจจะเริ่มจากการแบ่งเวลาวันละ 5-10 นาที ในการท่องโลกโซเซียลมาอ่านข่าวสารธุรกิจบ้าง update ความรู้ใหม่ๆ บ้าง หรือถ้าอยากจะให้อินเทรนไปกว่านั้น ในเดือนๆ นึงหาเวลาว่างเข้าอบรมพัฒนาความรู้เพิ่มเติมบ้างก็จะดีไม่น้อย หรือถ้าใครจะเลือกอบรม CPD ออนไลน์ผ่านทาง www.thaicpdonline.com ก็ทำได้ง่ายๆ นอกจากจะสะดวกแล้วยังประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ

สรุปสุดท้าย หากใครมีคุณสมบัติของผู้ทำบัญชีมืออาชีพครบทั้ง 5 ข้อแล้ว อนาคตความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็เริ่มจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วล่ะ

source: www.cpdacademy.co